บทร้อยกรอง หมายถึง
ถ้อยคำที่เรียบเรียงให้เป็นระเบียบตามบัญญัติแห่ง ฉันทลักษณ์ โดยมีกำหนดข้อบังคับต่าง ๆ
เพื่อให้เกิดความครึกครื้น และมีความไพเราะแตกต่างไปจากถ้อยคำธรรมดา บทประพันธ์ที่เขียนขึ้นตามลักษณะบังคับฉันทลักษณ์
มีการกำหนดจำนวนคำในวรรค การส่งรับสัมผัส กำหนดเสียงสูงต่ำ
ประเภทของบทร้อยกรอง
๑. โคลง
๒. ฉันท์
๓. กาพย์
๔. กลอน
๕. ร่าย
ลำดับขั้นในการพิจารณาวรรณกรรมร้อยกรอง
๑. อ่านบทร้อยกรองที่จะวิจารณ์นั้นให้จบ
โดยอ่านอย่างช้า ๆ เพื่อพินิจพิจารณาดูรายละเอียด
๒. ทำความเข้าใจว่าบทร้อยกรองที่ได้อ่านนั้น
เป็นคำประพันธ์ชนิดใด
คำประพันธ์ชนิดนั้นมีข้อบังคับและขนบธรรมเนียมนิยมในการแต่งอย่างไร
๓. ศึกษาเนื้อเรื่อง ถ้าเป็นเรื่องเล่า ก็ใช้แนวทางในการพิจารณาวรรณกรรมประเภทบันเทิงคดีมาเป็นแนวทางในการพิจารณา
เช่น โครงเรื่อง การสร้างตัวละคร บทสนทนา เป็นต้น
๔. พยายามพิจารณาว่า กวีแสดงความคิดเห็นไว้ในบทร้อยกรองนั้นหรือไม่ ถ้ามีเป็นความคิดเห็นเกี่ยวกับอะไร ความคิดเห็นนั้นว่าอย่างไร
ถ้าไม่มีควรพิจารณาดูว่าบทร้อยกรองนั้นสร้างอารมณ์อะไรแก่ผู้อ่าน
๕. พิจารณาศิลปะการแต่งอย่างละเอียด ทั้งการใช้เสียง
ลีลาจังหวะและกวีโวหาร
๖. ลงมือเขียนบทวิจารณ์นั้นการพิจารณาบทร้อยกรองตามขั้นที่ ๒ ถึงขั้นที่ ๕ จะเป็นการพินิจพิจารณาว่าบทร้อยกรองดีหรือไม่อย่างไรตามองค์ประกอบต่าง
ๆ การจะกล่าวว่าบทร้อยกรองนั้นดีหรือไม่ ควรยกตัวอย่างประกอบ
และอธิบายตามหลักการแต่งคำประพันธ์ด้วย
โวหารที่ใช้ในบทร้อยกรอง
บรรยายโวหาร หมายถึง โวหารที่ใช้ในการอธิบาย เล่าเรื่องราวเหตุการณ์ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ อย่างละเอียด แจ่มแจ้ง การเรียบเรียง และการใช้ถ้อยคำ จึงมักเลือกใช้ถ้อยคำที่สื่อความหมาย ตรงไปตรงมา กะทัดรัด ชัดเจน
พรรณนาโวหาร คือ โวหารที่กล่าวถึงความงามของธรรมชาติ สถานที่ หรือ ความรู้สึกนึกคิดอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความซาบซึ้ง และเกิดอารมณ์ความรู้สึก คล้อยตาม โดยใช้ถ้อยคำที่มีความไพเราะ และความหมายที่ลึกซึ้ง น่าสนใจ ให้ผู้อ่าน ประทับใจ
สาธกโวหาร คือ โวหารที่ยกตัวอย่างมาประกอบข้อความ เรื่องราวให้เข้าใจ แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น อาจเป็นการกล่าวอ้างถึงเรื่องจริง นิทานที่เป็นที่รู้จักกันดีมาประกอบก็ได้ เช่น เมื่อจะกล่าวถึงการตามใจลูก จนเสียคน ก็จะนำนิทานเรื่องสอนลูกให้เป็นโจรมาประกอบ
อุปมาโวหาร คือ การใช้โวหารเปรียบเทียบ ประกอบข้อความ เพื่อให้ผู้อ่าน เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้เข้าใจเรื่องราวได้แจ่มแจ้ง การใช้อุปมาโวหารนี้มีลักษณะการใช้หลายลักษณะ
เทศนาโวหาร เป็นโวหารที่แสดงการสั่งสอน หรือชักจูงให้ผู้อ่านเห็นคล้อยตาม ชี้แนะคุณและโทษสิ่งที่ควรปฏิบัติ หรือแสดงทัศนะในข้อสังเกต ในการเขียนผู้เขียนต้องใช้ เหตุผลมาประกอบให้ผู้อ่านเกิดความเชื่อมั่น เกิดความรู้สึกด้วยตนเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น