ใบความรู้เรื่อง การอ่านจับใจความ


การอ่านจับใจความ หมายถึง การอ่านที่มุ่งค้นหาสาระของเรื่อง หรือของหนังสือแต่ละเล่ม ที่เป็นส่วนใจความสำคัญ และส่วนขยายใจความสำคัญของเรื่อง
ใจความสำคัญของเรื่อง คือ ข้อความที่มีสาระคลุมข้อความอื่นๆ ในย่อหน้านั้นหรือเรื่องนั้นทั้งหมด ข้อความอื่นๆ เป็นเพียงส่วนขยายใจความสำคัญเท่านั้น ข้อความหนึ่งหรือตอนหนึ่งจะมีใจความสำคัญที่สุดเพียงหนึ่งเดียว นอกนั้นเป็นใจความรอง คำว่าใจความสำคัญนี้ ผู้รู้ได้เรียกไว้เป็นหลายอย่าง เช่น ข้อคิดสำคัญของเรื่อง แก่นของเรื่อง หรือ ความคิดหลัก ของเรื่องแต่จะเป็นอย่างไรก็ตาม ใจความสำคัญก็คือสิ่งที่เป็นสาระที่สำคัญที่สุดของเรื่องนั่นเอง
ใจความสำคัญส่วนมากจะมีลักษณะเป็นประโยค ซึ่งอาจปรากฏอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของย่อหน้าก็ได้

             จุดที่พบใจความสำคัญของเรื่องในแต่ละย่อหน้ามากที่สุดคือ ประโยคที่อยู่ตอนต้นย่อหน้า เพราะผู้เขียนมักบอกประเด็นสำคัญไว้ก่อน แล้วจึงขยายรายละเอียดให้ชัดเจน รองลงมาคือประโยคตอนท้ายย่อหน้า โดยผู้เขียนจะบอกรายละเอียดหรือประเด็นย่อยก่อน แล้วจึงสรุปด้วยประโยคที่เป็นประเด็นไว้ภายหลัง  สำหรับจุดที่พบใจความสำคัญยากขึ้นก็คือ ประโยคตอนกลางย่อหน้า ซึ่งผู้อ่านจะต้องใช้ความสังเกตและพิจารณาให้ดี ส่วนจุดที่หาใจความสำคัญยากที่สุดคือย่อหน้าที่ไม่มีประโยคใจความสำคัญปรากฏชัดเจน อาจมีประโยค หรืออาจอยู่รวมๆกันในย่อหน้าก็ได้ ซึ่งผู้อ่านจะต้องสรุปออกมาเอง









แนวทางการอ่านจับใจความสำคัญ
. ตั้งจุดมุ่งหมายในการอ่านได้ชัดเจน เช่น อ่านเพื่อหาความรู้ เพื่อความเพลิดเพลิน หรือเพื่อบอกเจตนาของผู้เขียน เพราะจะเป็นแนวทางกำหนดการอ่านได้อย่างเหมาะสม และจับใจความหรือคำตอบได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

. สำรวจส่วนประกอบของหนังสืออย่างคร่าวๆ เช่น ชื่อเรื่อง คำนำ สารบัญ   คำชี้แจงการใช้หนังสือ ภาคผนวก ฯลฯ เพราะส่วนประกอบของหนังสือจะทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องหรือหนังสือที่อ่านได้กว้างขวางและรวดเร็ว
             
. ทำความเข้าใจลักษณะของหนังสือว่าประเภทใด เช่น สารคดี ตำรา บทความ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้มีแนวทางอ่านจับใจความสำคัญ ได้ง่าย
             
. ใช้ความสามารถทางภาษาในด้านการแปลความหมายของคำ ประโยค และข้อความต่างๆอย่างถูกต้องรวดเร็ว
            
 . ใช้ประสบการณ์หรือภูมิหลังเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านมาประกอบ จะทำความเข้าใจและจับใจความที่อ่านได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น


ขั้นตอนการอ่านจับใจความ
. อ่านผ่านๆโดยตลอด เพื่อให้รู้ว่าเรื่องที่อ่านว่าด้วยเรื่องอะไร จุดใดเป็นจุดสำคัญของเรื่อง
. อ่านให้ละเอียด เพื่อทำความเข้าใจอย่างชัดเจน ไม่ควรหยุดอ่านระหว่างเรื่องเพราะจะทำให้ความเข้าใจไม่ติดต่อกัน
. อ่านซ้ำตอนที่ไม่เข้าใจ และตรวจสอบความเข้าใจบางตอนให้แน่นอนถูกต้อง
. เรียบเรียงใจความสำคัญของเรื่องด้วยตนเอง


ที่มา : กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. หลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ๒๕๕๔


 หน้าแรก👈                   กลับข้างบน👆                    ใบความรู้ถัดไป👉

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น